คุณยศ เป็นเพื่อนของเพื่อนภรรยาผม (หลายชั้นหลายซ้อนเนอะ) ที่ได้รับการแนะนำให้ผมรู้จักเนื่องจากผมกำลังหา “ครูสอนอาชีพ” เกี่ยวกับธุรกิจหมูสะเต๊ะ

พูดง่าย ๆ คือหาคนที่ทำอาชีพนี้มาสอนให้คนที่ต้องการสร้างรายได้ หาอาชีพหลัก อาชีพเสริมให้กับตัวเอง โดยเอาเจ้าของกิจการจริง ๆ มาสอนมาฝึกให้ลงมือทำกันเลย

คุณยศ เป็นเจ้าของร้านหมูสะเต๊ะ บางซื่อ ที่ได้รับการแนะนำมา ผมเองก็ได้มีโอกาสไปลองทาน นั่งพูดนั่งคุย ทำความรู้จักกันพอสมควร ต้องบอกว่า รสชาติหมูสะเต๊ะ อาหร่อยยยยยยย มากครับ เจ้าของร้านก็อัธยาศัยดีมาก ยิ่งได้รู้ว่าทำงานไปด้วยและแบ่งเวลาทำธุรกิจส่วนตัวด้วยผมยิ่งประทับใจมากเลยทีเดียว

ยิ่งได้พูดคุยขุดคุ้ยประวัติผมบอกได้เลยครับว่า นี่แหละ “ครูสอนอาชีพ” ที่ไม่ได้สอนแค่ให้มี “อาชีพ” แต่จะเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของ “ครูสอนชีวิต” เลยก็ว่าได้ครับ

เราคงได้ยินบ่อย ๆ ชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างครับของคนที่ “เลือกจะเป็น” ได้ครับ

มาทำความรู้จักกับ “ครูสอนอาชีพ หมูสะเต๊ะ” คนนี้กันครับ

 

มาทำความรู้จัก ยศ หมูสะเต๊ะบางซื่อ กัน

สวัสดีครับ ผมชื่อ ยศ สมยศ เพ็ชร์กลัด  ตอนนี้ผมยังทำงานประจำอยู่ครับ เป็น จป. วิชาชีพ ที่ บมจ มติชน และแบ่งเวลาว่างวันเสาร์-อาทิตย์ มาทำหมูสะเต๊ะขาย จนตอนนี้มีร้านขายหมูสะเต๊ะ ภายใต้ซื่อ ว่า หมูสะเต๊ะบางซื่อ จ้างพนักงานขายผมก็ยังทำงานควบคู่ไปด้วย

 

ทำงานไปด้วย และจัดสรรเวลามาหารายได้เพิ่ม อยากให้เล่าชีวิตกว่าจะมาถึงวันนี้หน่อยครับ

ครอบครัวผมมีด้วยกัน 4คน ผมเติบโตมาจาก “ชุมชนแออัด” หรือที่เรียกว่า “สลัม” นั้นเอง  ครอบครัวผมเป็นครอบครัวค้าขายตั้งแต่ผมจำความได้ (อาหารตามสั่ง) ผมต้องช่วยพ่อแม่ตั้งแต่เด็กๆจนผมซึมซับการค้าขายมาตลอด ประกอบกับแม่รักการทำอาหาร จนเพื่อนบ้านติดใจในรสชาติของอาหารที่แม่ผมทำพอมีงานอะไรก็จะให้แม่ผมทำเกือบทุกงานก็ว่าได้

ต่อมาไม่นานที่บ้านก็ต้องเลิกค้าขายอาหารตามสั่งเนื่องมีปํญหาการบริหารจัดการไม่เป็นระบบทั้งเรื่องเวลา การเงิน และอื่นๆจึงเลิกกิจการตรงนั้นไป พ่อจึงไปทำงานบนเรือขนส่งสินค้า เป็นพ่อครัว  ส่วนผมก็เรียนจบระดับปวส ช่างยนต์ ก็ไปทำงานเป็นช่างตามประสาเด็กอาชีวะทั่วไป

ใจอยากเรียนต่อแต่ติดตรงไม่มีเงินเรียนก็เลยต้องทำงานเก็บเงินไปก่อน แต่แล้วเพื่อนที่เค้าไปเรียนต่อกันได้มาชวนไปสอบเพราะอยากให้เพื่อนในกลุ่มได้เรียนเหมือนกันเพื่ออนาคตที่ดี จึงตัดสินใจไปสอบผลออกมาคือติดก็ต้องเลิกทำงานไปแล้วมาเรียนอีก2ปี พอจบ ป ตรี ด้านสาขาเครื่องกล จาก ราชภัฏพระนคร ก็ทำงานตามสายงานที่เรียนมาตามปกติ (เป็นช่างซ่อมรถยนต์ตามเคย) แต่คราวนี้ต้องมาซ่อมรถที่ราคาแพง คือโรสรอยส์ จากัวร์ ปอร์เช่  ทำงานเกี่ยวรถยนต์เข้าๆออกๆ ได้เจ็ดที่และที่สุดท้ายก็มาอยู่ที่ บมจ มติชน เข้าปีที่ 11 โดยทำหน้าที่ เป็น จป วิชาชีพ ทำงาน จันทร์ ถึง ศุกร์

ต้องบอกเพื่อน ๆ น้อง ๆ อย่างนี้ครับว่า การเรียน เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าการที่เรา ทำธุรกิจส่วนตัว ความรู้จากการเรียนจะทำให้เรานำมาใช้ในการปรับปรุงธุรกิจ รวมถึงเป็นการสร้าง Connection หรือ เครือข่ายเพื่อน ๆ ที่จะคอยเกื้อหนุนกันในอนาคต

อย่าคิดเพียงว่ามีธุรกิจ มันง่ายไปครับ ชีวิตมันยังมีอะไรมากกว่าสิ่งที่เราคิดมากเลยครับ มีโอกาสเรียนจงเรียน และพยายามหาช่องทางฝึกฝนตัวเองให้มีความชำนาญในด้านสหวิชาชีพในระหว่างเรียนด้วยนะครับ จบออกมาแล้วเราจะได้มีอาวุธ เครื่องไม้เครื่องมือในการเลี้ยงชีพครับ

ส่วนคนทำงาน จงทำตัวเป็น “ฟันเฟือง” ที่สำคัญขององค์กร ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด อย่างทำตัวเป็นเหล็กขึ้นสนิมที่ผุกร่อนรอวันทิ้งนะครับ อย่างนี้ต่อให้ทำธุรกิจส่วนตัวเราก็ไม่อาจทำให้ได้ดีได้ ยิ่งเรารับผิดชอบหน้าที่การงานได้มากกว่าที่บริษัทต้องการมากเท่าไหร่ โอกาสในการทำธุรกิจส่วนตัวเราให้ประสบความสำเร็จมันก็ได้มากขึ้นเช่นกัน

 

ทำไมต้องมาเป็น หมูสะเต๊ะ บางซื่อ

ลงทะเบียนจองสิทธิ์เรียนสูตรหมูสะเต๊ะบางซื่อ

ความรับผิดชอบล้วนๆเลยครับ ครอบครัวผมไม่มีใครทำงานประจำเลย ผมคนเดียวที่ทำงานประจำดังนั้นผมจะต้องคิดให้เยอะกว่าคนอื่นเสมอว่าเราต้องหาวิธีอะไรก็ได้ให้ครอบครัวเราอยู่ได้มีรายได้จากความสามารถที่มีอยู่ให้ได้นั้นก็คือการค้าขาย เพราะลำพังเงินเดือนอันน้อยนิดคงไม่พอสร้างความมั้นคงอะไรได้เลยครับ และที่สำคัญผมมีแฟนที่ต้องช่วยกันสร้างเนื้อสร้างตัวกันด้วย ซึ่งผมไม่สามารถทนมองความลำบากของคนในบ้านผมได้ ผมจึงคิดหารายได้พิเศษจากวันสาร์อาทิตย์เพื่อจะหาที่ขายของ

ปกติผมชอบทาน หมูสะเต๊ะมากโดยเฉพาะสูตรที่แม่ผมทำเพราะรสชาติไม่เหมือนที่ผมเคยไปทานมา จึงตัดสินใจว่าจะเอาหมูเต๊ะเนียแหละไปขาย ผมไปได้ตลาดที่ สวนหลวงร9 ครับ บ้านผมอยู่บางซื่อ ก็ถือว่าไกลเลยทีเดียวที่จะไปขายที่นั่น แต่ทำไงได้ครับ ชีวิตมันไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากมาย สิ่งที่เราทำได้คือ “สู้ยิบตา”

ตลาดแบ่งเป็นล๊อกๆครับแต่ผมได้อยู่ริมถนนไม่มีหลังคามีแต่ร่มหนึ่งคันกันแดดได้นิดหน่อย ขายตั้งแต่6.00-11.00 ครับ ตอนนั้น ผมได้ตั้งชื่อร้านว่า หมูสะเต๊ะ บางซื่อ (ขายครั้งแรกเมื่อปี2552) ที่ใช้ชื่อนี้เพราะผมเป็นเด็กบางซื่อครับ ใช้เวลาไม่นานก็ขายได้ยอดที่น่าพอใจ

ขายแบบนี้อยู่3ปี ก็ต้องเลิกขายไปเพราะผมเกิดอุบัติเหตุทางรถ ผมพักรักษาตัวอยู่ที่คอนโดเป็นปี ตอนนั้นนั่งคิดนอนคิด ว่าเราจะต้องมีหน้าร้านเป็นของตัวเองให้ได้เพื่อทุกคนในครอบครัวจะได้มีรายได้จากการขายหมูสะเต๊ะ ผมจึงค้นหาในอินเตอร์เน็ตว่าที่ตลาดที่ไหนบ้างแต่เมื่อไปดูแล้วไม่ตรงต่อความต้องการเท่าไหร่

จนมีวันนึ่งผมได้เข้าไปทานข้าวในตลาดบองมาร์เช่ ซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำงานผม สังเกตว่าไม่มีร้านขายหมูสะเต๊ะ วินาที่นั้นผมทานข้าวเสร็จก็ติดต่อสอบถามตอนนั้นเลยครับ ผ่านไปประมาณหนึ่งอาทิตย์ทางตลาดได้ติดต่อมาให้เข้าไปพูดคุยและให้นำอาหารที่เราจะขายมาเสนอให้คณะกรรมการได้ทดสอบ ลืมบอกไปว่าตลาดบองมาร์เช่เป็นตลาดที่มีมาตรฐานสูง แห่งหนึ่งของประเทศเลยก็ว่าได้ จึงต้องมีขั้นตอนในการจัดหาเป็นพิเศษ อีกสามวันต่อมาผลทดสอบก็ผ่าน ให้เรามาดำเนินการทำสัญญาค่าเช่าการออกแบบทำร้าน

ตอนนั้นบอกได้คำเดียวว่าไม่มีเงินทุนเลย เพราะเงินเดือนสองคนกับแฟน ต้องผ่อนคอนโดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและช่วงที่รักษาตัวก็ไม่มีเงินเดือนถือว่าช่วงนั้นหนักมาก

หลายครั้งต้องกินอาหารญี่ปุ่น มาม่า ติดต่อกันอาทิตย์ๆสุดท้ายก็ต้องมาเอารถที่ผ่อนหมดไปหมาดๆไปเข้าเพื่อนำเงินมาทำทุนทำร้าน

โดยคิดและออกแบบลงมือทำเองทุกอย่างกับญาติๆเพื่อประหยัดต้นทุนในการทำร้าน ระหว่างนั้นผมได้ว่างแผ่นปรับปรุงสูตรหมูสะเต๊ะให้มีมาตรฐานมากขึ้นโดยการใช้หลักการชั่งตวง เข้ามาเพื่อให้หมูสะเต๊ะมีรสชาติที่เป็นมาตรฐานในแบบของเราเองเพื่อที่จะควบคุมคุณภาพได้ง่ายขึ้น และเมื่อพร้อมขายผมก็ให้แม่และน้องสาวมาขายอยู่หน้าร้านในวันจันทร์ถึงวันศุกร์

ผมจะมาขายวันเสาร์อาทิตย์เอง ผลตอบรับดี ขายหมูสะเต๊ะเริ่มอยู่ตัว รถผ่อนหมด ซื้อรถใหม่ มีเงินเก็บพอได้ ทุกคนในบ้านมีเงินเดือนใช้ แต่ผมคิดต่อยอดไปอีกคือการเปิดสาขาเพิ่ม คืออยากลองทำดู จึงไปติดต่อพื้นที่จุดพักรถในปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งใกล้ๆในพื้นที่ที่ทำงานเราเอง ซึ่งค่าเช่าแพงเอาเรื่องเลยแต่ผมเป็นคนชอบเสี่ยงเรื่องค้าขายอยู่แล้วเลยไม่กลัว ลงเลยทำสัญญาเช่า หกหมื่น แต่งร้านอีกซื้อของเข้าร้านอีกรวมๆแล้วแสนกว่าๆ และต้องจ่ายเด็กอีกสองคนคนละสี่ร้อยทุกวัน

ปรากฏว่าขายได้สี่เดือนต้องปิดร้านเพราะยอดขายได้ไม่ได้ตามเป้ายอมเสียเงินหกหมื่นเพราะเราขายไม่ครบเดือนตามสัญญาครับ ลืมบอกไปว่า ค่าเช่าเดือนละ สามหมื่นน้ำไฟยังไม่คิดนะ ครับหนักเอาเรื่องครับ ผมเลยตัดสินใจปิดร้านดีกว่าก่อนที่ผมก็จะเจ็บตัวมากกว่านี้ครับ ก็จะเหลือที่ตลาดบองมาร์เช่ที่เดียวในช่วงนั้นครับ

ส่วนปัญหาชีวิตของผมนั้นไม่ค่อยมีครับจะมีแต่ปัญหาของคนรอบๆตัวที่เราต้องดูแลเสียมากกว่าเรื่องหนี้สินผมก็มีเหมือนคนอื่นทั่วไปอ่ะครับ แต่หนี้สิ้นเหล่านั้นที่ผมสร้างถึงตอนจบสุดท้ายมันก็ต้องอยู่กับเราต่อไปเป็นสมบัติของเรา

เราจะไม่สร้างหนี้สินที่ไม่เกิดประโยชน์ครับผมคิดแบบนี้เพราะผมเห็นคนแถวบ้านเป็นหนี้จากการเล่นการพนันเป็นหนี้จากการใช้เงินเกินตัว หนี้เหล่านี้คือตัวทำร้ายความสุขและอนาคตของครอบครัวครับ

ปัญหาหนักในการทำธุรกิจคือเรื่อง “คน”

ปัญหาที่หนักใจที่สุดคือ คน เนียแหละครับ บอกก่อนว่า หมูสะเต๊ะ จะผลิตที่บ้านแม่ ส่วนผมอยู่คอนโด ทำงานก็กลับค่ำบ้างจึงไม่มีเวลาเข้าไปตรวจเช็ตการทำงานได้อย่างละเอียดเช่นคนเสียบหมูแต่ละคนก็จะเสียบไม่เหมือนกันเล็กบ้างใหญ่บ้างจึงทำให้ผลกำไรหรือต้นทุนไม่เป็นไปตามแผน

ที่สำคัญคือมาตรฐานหายไป ลูกค้าจะไม่พอใจ แบบว่าวันนี้ไม้ใหญ่ มาทานวันนี้ไม้เล็กอะไรประมาณนี้ จึงคิดวิธีแก้ไขคือปกติจะให้หมูไปเสียบที่บ้านของคนเสียบแต่ผมได้ทำตัวอย่างการกำหนดขนาดของหมูที่จะเสียบให้พอดีและให้คนเสียบมาเสียบในที่ที่เดียวกันเพื่อให้ช่วยดูช่วยเตือนกัน ผลออกมาได้ผลที่ดี หมูมีขนาดที่ใกล้เคียงกัน ลูกค้าพอใจเราก็ได้กำไร 555

 

ทำให้ลูกค้าประทับใจคือสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ

ผมมองว่า ถ้าสินค้าเราไม่ดีการเข้าถึงลูกค้านั้นยิ่งยากครับแต่ถ้าสินค้าเราดีการเข้าถึงก็ง่ายครับ เป้าหมายของผมคือกลุ่มลูกค้าขาประจำครับ ถ้าลูกค้าชอบก็บอกต่อๆกันไป มีออกงานนอกสถานที่บ้าง ขายส่งบ้าง ลงสื่อออนไลท์บ้าง

ประเด็นสำคัญของธุรกิจอาหารคือ ต้อง อร่อย สด สะอาด ปลอดภัย คือสิ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า สุดท้ายคือ การบริการที่ดีจะเป็นการ “มัดใจ” ลูกค้าให้อยู่กับเราและเขาก็ยินดีที่จะบอกต่อความอร่อย และ บริการที่ดีของเราครับ

 

ตอนนี้ หมูสะเต๊ะ บางซื่อ มีอาหารอะไรแนะนำบ้าง

ลงทะเบียนจองสิทธิ์เรียนสูตรหมูสะเต๊ะบางซื่อ

หมูสะเต๊ะ ไก่สะเต๊ะ

ผงกระหรี่สูตรเฉพาะ

น้ำอาจาดที่ผสมด้วยสมุนไพร เพื่อสร้างความแตกต่าง

 

ทำไมต้องทานหมูสะเต๊ะ บางซื่อ

  • จุดเด่นเรื่องรสชาตของหมูที่รสจัดและเนื้อนุ่มนวลละมุลลิ้น
  • น้ำจิ้มใชัถั่วไทย(เม็ดเล็ก)คั่วเองบดละเอียดไม่ใส่แป้งไม่ใส่ขนมปังเพื่อทำให้ข้น ใช้การควบคุมปริมาณน้ำกะทิแทนเท่านั้นไม่มีน้ำมันของพริกแกงลอยเพราะเราเน้นเรื่องของสุขภาพของลูกค้าด้วย
  • น้ำอาจาดเราปรับปรุงให้แตกต่างจากที่อื่นโดยการใช้สมุนไพรมาผสมเพื่อให้เกิดสีสันที่สวยงามและมีประโยชน์
  • ส่วนในการปิ้งนั้น ทางร้านได้ใช้ถ่านไม้โกงกาง ด้วยคุณสมบัติของถ่านไม้โกงกางเวลาปิ้งจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวให้ความร้อนสูง ถือเป็นแบบฉบับการปิ้งแบบโบราณแท้ๆ

 

ถ้าอยากขายหมูสะเต๊ะบ้างต้องทำอย่างไร

ต้องถามใจตัวเองก่อนว่าเราสู้แค่ไหนถ้าสู้ก็ลงมือเลยครับ แต่ก่อนจะทำหรือลงทุนเราต้องคิดให้ละเอียดถ้าเราคิดไม่ละเอียดมันก็ยากถ้าเราคิดละเอียดมันก็ง่ายครับ

 

อะไรคือพื้นฐาน รากหญ้าทางธุรกิจสำหรับ หมูสะเต๊ะบางซื่อ

ต้องใช้คำว่า “บางซื่อ” เป็นจุดเริ่มต้นของ “ความซื่อสัตย์” ต่อตัวเองและลูกค้า และมีความคิดที่จะพัฒนาต่อยอดปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา

เราทำกินแบบไหนก็ทำขายแบบนั้นไม่เอาเปรียบลูกค้า ในส่วนราคานั้นเราสามารถเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับพื้นที่นั้นๆได้

 

ดูแลบริหารลูกน้องอย่างไร

ดูแลใส่ใจเหมือนญาติ แนะนำสิ่งที่ถูกต้อง จะไม่มีการตำนิให้เสียกำลังใจ ผมแบ่งเวลามาดูกิจการหลังเลิกงาน หรือไม่ก็เวลาพักกลางวัน มีโอกาสได้พูดคุยกับลูกน้อง ช่วยกันแก้ไขปัญหา ความไว้ใจเป็นเรื่องสำคัญหากเราไม่ได้ดูแลร้านเอง หาคนที่เชื่อใจไว้ใจได้เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก่อนส่วนที่เหลือฝึกกันได้ครับ

 

แผนการตลาดในอนาคต

ผมเปิดร้านมาเข้าสู่ปีที่ห้า แล้ว ตอนนี้ผมซื้อบ้านเป็นบ้านเดี่ยวที่ ประชาชื่นซอย37 บนเนื้อที่ 55 ตารางวา และกำลังปรับปรุงบ้านเพื่อให้มีพื้นที่ลงเครื่องจักรเพื่อลองรับการผลิตหมูสะเต๊ะในอนาคตเพื่อ เพิ่มการขายส่ง , แปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ , เพิ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เช่น ตับสะเต๊ะ กุ้งสะเต๊ะ เนื้อสะเต๊ะ, เปิดแฟรนไชส์

 

หากเพื่อน ๆ อ่านแล้วสนใจธุรกิจนี้ ต้องลงทุนอย่างไร เตรียมตัวอะไรบ้าง

ก่อนอื่นเลยเตรียมตัวกับหัวใจที่จะเรียนรู้ อีกหนึ่งสิ่งที่จะเข้ามาในชีวิตของเรา

การลงทุนมีอยู่ 2 แบบ

  1. ลงทุนด้านอุปกรณ์

ถ้วยใส่ผัก โบว์ใหญ่ 3 ใบ(150)  กล่องสำหรับบรรจุหมู (50ต่อใบ)

เตาปิ้งไร้ควัน (3000-4000) เตาถ่าน (300-400) หม้อทำน้ำจิ้ม (แล้วแต่ขนาด) เครื่องปั่น (1000)

โถใส่น้ำจิ้ม 1 ใบ (แล้วแต่ขนาด) กระบวยตักน้ำจิ้ม (20)  ถาดใส่หมู (100)  หม้อใส่น้ำจิ้ม (250)

เขียง (20)  มีดเล็ก (50) โต๊ะ(1000-2000) หรือรถเข็น (3000-4000) อุปกรณ์บางอย่างสามารถหาในบ้านเราเองได้เพื่อลดต้นทุนนะครับ

  1. ลงทุนด้านวัตุดิบ

เนื้อหมูกิโลละ (145) ไข่ไก่ (3-5)  ผงกระหรี่(แล้วแต่ยี่ห้อ) นมจืด(25) ผงปรุงรส เกลือ (2) น้ำตาลทราย (25) น้ำสมสายชูเทียม (20) กะทิ (50) น้ำตาลปีบ (35) พริกแกงโลละ (145) ถั่วลิสงโลละ (55) ไม้เสียบห่อละ (30) วัตถุดิที่ซื้อนั้นบางตัวสามารถใช้ได้หลายครั้ง

 

ให้มุมมองแง่คิดมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการสร้างรายได้เสริมหน่อยครับ

สำหรับเพื่อนๆที่สนใจทำธุริกิจ อยากเป็นเถ่าแก่ใหม่ สำคัญสุดก็คือ ใจต้องสู้ ใจต้องนิ่ง ยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ      .

ผมคิดเสมอว่า

การทำอะไรก็แล้วแต่มีอยู่สองอย่างคือ ทำได้กับทำไม่ได้ แล้วคุณจะเลือกแบบไหน

 

โปรโมทชั่น หากลูกค้าที่ตามอ่านจากเว็บ Taokaemai

ท่านใดสนใจจะมาลองซิมหรือจะมาชมบรรยากาศการขายถึงหน้าร้านก็ขอเชิญนะครับ ที่ ตลาดบองมาร์เช่ ได้ครับ รบกวนถ้าจะมาโทรบอกกันก่อนผมจะได้ออกไปต้อนรับครับ 080-9270089  ผมจัดให้แบบพิเศษกันไปเลย พูดคุยปรึกษากันได้ครับ

 

ช่องทางติดต่อธุรกิจ

เข้าไปดูที่   https://www.facebook.com/หมูสะเต๊ะบางซื่อ-สาขา-ตลาดบองมาร์เช่

ลงทะเบียนจองสิทธิ์เรียนสูตรหมูสะเต๊ะบางซื่อ