สำหรับบทความนี้ ก็เป็นซีรี่ย์ต่อเนื่องมาจากบทความ 5 เคล็ดลับ ในการเลือกซื้อแฟรนไชส์ให้รวยเปรี๊ยง เพราะนอกจากเราจะเลือกแฟรนไชส์ที่ต้องการจะทำได้แล้ว ทีนี้ก็ถึงขั้นตอนที่เราจะต้องเริ่มต้นพิจารณาตัวเราเองว่า ตัวเรานั้น พร้อมที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์ ในฐานะแฟรนไชส์ซีแล้วหรือยัง

เพราะถ้าหากแบ่งหน้าที่กันระหว่าง เจ้าของแฟรนไชส์กับแฟรนไชส์ซี(ลูกแฟรนไชส์) แล้วนั้น ย่อมมีหน้าที่ที่ค่อนข้างแตกต่างและชัดเจนอยู่แล้ว นั่นก็คือ

หน้าที่ของเจ้าของแฟรนไชส์ หลัก ๆ จะเป็นการทำแบรนด์ดิ้ง การทำการตลาด การผลิตสินค้า การจัดการ และการขนส่ง

ส่วนหน้าที่หลักของแฟรนไชส์ซีก็คือ “การขาย” ซึ่งการขายคือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจอันดับต้น ๆ เลย ดังนั้น เราลองมาดูกันว่า ถ้าหากอยากรวยด้วยการเป็นแฟรนไชส์ซีนั้น จะต้องมีองค์ประกอบใดบ้าง

ข้อที่ 1 – ทำเล ทำเล ทำเล

โดยส่วนใหญ่การเป็นแฟรนไชส์ซีนั้น ก็คือต้องมีหน้าร้าน หรืออย่างน้อยก็ต้องมีการตั้งบูธหรือคีออสตั้งไว้ในแหล่งชุมชนเพื่อทำการขาย

คุณอาจจะเคยได้ยินว่า บางแฟรนไชส์มีการหาทำเลเอาไว้ให้แล้ว เพียงแค่คุณนำเงินมาซื้อแฟรนไชส์ ก็เตรียมรับทรัพย์ได้เลยนั้น ผมก็ต้องขอบอกว่า อาจจะต้องคิดและพิจารณาให้ดีก่อนว่า คำพูดนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะหาก มีทำเลทองแล้วขายดีมาก ๆ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ “ทำไมไม่ขายเองซะเลยล่ะ?” นั่นล่ะฮะท่านผู้อ่าน

ดังนั้น ต่อให้ท่านซื้อแฟรนไชส์ไปแล้ว สิ่งที่ท่านต้องทำงานต่อก็คือ การหาทำเลเตรียมขาย แต่หากเป็นแฟรนไชส์ อย่าง เซเว่นแล้วล่ะก็ จะเข้มงวดขึ้นไปอีก ถึงขนาดต้องมีคนมาเก็บสถิติเลยว่า ทำเลที่ท่านหาไว้นั้น มีปริมาณผู้คนเพียงพอที่เหมาะจะเปิดสาขาหรือเปล่า

แต่หากพูดถึงแฟรนไชส์อื่น ๆ โดยปกตินั้น ต่อให้มีสินค้า บริการ หรือแบรนด์ดังแค่ไหน หากแฟรนไชส์ที่ท่านซื้อไปนั้น เอาไปเปิดในตรอกซอยอันลึกลับ ห่างไกลจากผู้คนแล้วล่ะก็ ก็มีโอกาสเจ๊งได้สูงอยู่ดี

เพราะฉะนั้นแล้ว นี่คือปัจจัยสำคัญ ที่ท่านจะต้องไม่ปล่อยปะละเลยเป็นอันขาด เลิกคิดได้เลยว่า แค่ซื้อแฟรนไชส์ไปตั้งตรงไหนก็ได้ แล้วเตรียมตัวรวยนั้น ท่านคิดผิดถนัดเลย

ก่อนทำการซื้อแฟรนไชส์ ให้ท่านถามเจ้าของแฟรนไชส์ไปเลยว่า มีสถิติหรือตัวเลขของผู้คนที่แนะนำไหมว่าการที่จะขายดีจะต้องมีคนพลุกพล่านแค่ไหน กี่คน แล้วคนเดินผ่านกี่คนจะแวะเข้าร้าน เช่น สมมติว่า จากการเก็บสถิติของเจ้าของแฟรนไชส์แบรนด์หนึ่งได้ว่า ถ้ามีลูกค้าเดินผ่านหน้าร้านจำนวน 100 คน ต่อชั่วโมง จะมีคนซื้อสินค้าอยู่ที่ 8% หรือ 8 คน ต่อชั่วโมง หากวันหนึ่งขาย 8 ชั่วโมง ก็จะมีลูกค้าเป็นจำนวน 64 คน เป็นต้น

ดังนั้นตัวเลขจำนวนนี้ สำคัญมาก เพราะมันจะส่งผลไปถึงทักษะที่สอง ที่คุณจำเป็นต้องมี นั่นก็คือ

ข้อที่ 2 – ทักษะการขาย

จากข้อแรก เราได้ข้อมูลมาแล้วว่า ถ้าหากในหนึ่งวัน จะมีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้ากับเราจำนวน 64 คน หากคุณขายสินค้าชิ้นละ 10 บาท ให้ทั้ง 64 คน คุณก็ได้รายได้ของวันนั้นเป็นเงิน 640 บาท หากหักต้นทุนการผลิตสินค้า โดยทั่วไปถ้าเป็นของกิน ต้นทุนจะอยู่ที่ 50% ดังนั้น คุณก็จะได้กำไรจากการขายประมาณ 320 บาท หากขายแบบนี้ทั้งเดือน คุณจะได้เงินประมาณ 9,600 บาท ซึ่งถ้าหักค่าเช่าที่สัก 3,000 บาท คุณก็จะได้กำไรเพียง 6,600 บาท เท่านั้นเอง ซึ่งทำงานประจำน่าจะเป็นทางเลือกที่ดูดีกว่าด้วยซ้ำไป

ดังนั้น ถ้าคุณไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้คนได้ คุณก็ต้องพัฒนาทักษะการปิดการขายต่อหัวให้มันสูงขึ้น โดยเราลองมาดูกันว่า หากคุณสามารถปิดการขายต่อหัวเพิ่มเป็น 40 บาท โดยจำนวนลูกค้ายังเท่าเดิมคือ 64 คน คุณก็จะขายได้ 2,560 บาท/วัน หรือ 76,800 บาท/เดือน คิดต้นทุนค่าของแล้วจะเหลือกำไรประมาณ 38,400 บาท หักค่าที่แล้วก็จะเหลือประมาณ 35,400 บาท

เห็นไหมครับว่าสามารถทำกำไรได้มากกว่าเดิมถึง 5 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้นแทนที่คุณจะขายให้ลูกค้าซื้อชิ้นละ 10 บาท คุณอาจจะคิดโปรโมชั่น หรือเชียร์ให้ลูกค้าซื้ออย่างน้อย 4 ชิ้น เป็นเงิน 40 บาท เท่านี้ก็เริ่มเห็นทางรวยกันแล้วใช่ไหมครับ

ถ้ามีคำถามอีกว่า ถ้าอยากได้มากกว่า 35,400 บาท ล่ะ? จะต้องทำยังไง เพราะทำเลก็ดีแล้ว ทักษะการขายก็พัฒนาขึ้นมากแล้ว แต่ก็ยังคงกำไรอยู่ที่เท่า ๆ เดิม ดังนั้นเราลองมาดูกันว่า หากคุณต้องการรวยมากยิ่งขึ้น คุณจะรับมือกับข้อต่อไปได้หรือไม่

ข้อที่ 3 – ความสามารถในการรับความเสี่ยง

ก่อนที่จะเริ่มต้นซื้อแฟรนไชส์ ในฐานะของแฟรนไชส์ซี ให้คุณตั้งคำถามนี้กับตัวคุณเองไปเลยว่า ถ้าเกิดกรณีเหตุการณ์ที่แย่ที่สุด คุณสามารถรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน หลักพัน หลักหมื่น หลักแสน หลักล้าน

เพราะความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน และผลตอบแทนก็มักจะสูงขึ้นตามความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ด้วยเช่นกัน

จากกรณีในข้อที่ 2 หากคุณยอมรับความเสี่ยงได้เพียงการซื้อแฟรนไชส์สาขาเดียว และขายเอง คุณก็อาจจะพอใจที่กำไรเดือนละสามหมื่นกว่าบาท

แต่หากคุณต้องการกำไรที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่แนะนำได้ก็คือ การซื้อสาขาแฟรนไชส์เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น คุณซื้อแฟรนไชส์เพียงสาขาเดียวแถมขายเองด้วยนั้น คุณจะได้กำไรจากข้อที่แล้วประมาณ 35,400 บาท

คุณจึงมีความคิดที่ว่า อยากได้กำไรที่มากขึ้น จึงนำเงินไปลงทุนเปิดอีกสาขาหนึ่ง โดยมีจำนวนลูกค้าที่พอ ๆ กัน และมีพนักงานขายที่มีทักษะพอ ๆ กับร้านแรก แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ คุณจะต้องจ่ายค่าแรงให้กับพนักงานขายหน้าร้าน สมมติว่าจ่ายค่าจ้างพนักงานเป็นจำนวน 15,000 บาท ก็จะทำให้สาขาที่สองมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 20,400 บาท เป็นต้น

ดังนั้น รวมทั้งสองสาขาที่คุณซื้อแฟรนไชส์มา ก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 55,800 บาท (อย่าลืมหักค่าจ้างของตัวเองด้วยล่ะ)

เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถมีกำไรเพิ่มขึ้นจากการเป็นแฟรนไชส์ซีแล้ว

วกกลับเข้าประเด็นของเราก็คือ “ตัวคุณเองยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน?” เช่น ถ้าจำนวนลูกค้าลดลง, พนักงานขายปิดการขายไม่ได้ตามที่คาดหวัง, พนักงานป่วย(หรือแม้กระทั่งตัวคุณเองป่วย), เงินที่นำมาลงทุน หรือลองคิดไปเลยว่า หากเจ๊งทั้งสองสาขา คุณสามารถรับความเสี่ยงนั้นได้ไหม

เพราะความเสี่ยงย่อมมีในทุก ๆ ธุรกิจเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ดังนั้นการที่จะเกิดความเสี่ยงน้อยลงนั้น คือคุณจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ เพิ่มมากขึ้น ยิ่งคุณรู้เยอะ ลงมือทำเยอะมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงในธุรกิจนั้น ๆ ก็จะยิ่งลดลง

มีคำกล่าวนึงที่กล่าวเอาไว้ว่า

“การลงทุนนั้นมีความเสี่ยง แต่หากคุณไม่คิดจะลงทุนอะไรเลย นั่นแหละคือความเสี่ยงที่สุดที่คุณได้เลือกเอาไว้แล้ว”