หนึ่งในอาชีพเสริมที่มีแนวโน้มจะสร้างรายได้เสริมให้คนทำงานประจำได้ดีคือแฟรนไชส์ แต่แฟรนไชส์ประเภทไหน จึงจะเหมาะสมกับคนทำงานประจำ ในข้อนี้ต้องมาดูปัจจัยประกอบ ซึ่งเราจะมาช่วยกันหาคำตอบที่ลงตัวให้กับคุณ

พูดคำว่า “มนุษย์เงินเดือน” ประโยคที่ตามมามักจะเป็น “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” “เป็นหนี้บัตรเครดิตท่วมหัวท่วมหู” บางครั้งงานหนัก เงินเดือนน้อย ฯลฯ สารพัดจะสรรหามาบ่นกัน แต่ลองมาพิจารณาดูให้ดีเถอะ ใครที่มีงานประจำ เงินเดือนประจำอยู่แล้วถือเป็นบุญนักหนา เพราะมีแต้มต่อในแง่ความมั่นคงของรายได้ช่องทางหลัก แต่ถ้าคุณรักจะทำอาชีพเสริม ทำไมไม่ลองหาธุรกิจแฟรนไชส์ ในระยะแรกเริ่มแฟรนไชส์จะเป็นโรงเรียนสอนธุรกิจที่ดีให้กับคุณ และในระยะยาวหากคุณประสบความสำเร็จ คุณอาจจะวางแผนลาออกจากงานเพื่อมาทำธุรกิจแฟรนไชส์เต็มตัวเลยก็ได้

1.เอาเวลาตอนไหนมาทำธุรกิจแฟรนไชส์

วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ หลังเลิกงาน หากคุณสามารถจัดสรรเวลาได้ ขึ้นอยู่กับว่างานประจำของคุณใช้เวลาคุณมากขนาดไหน ตลอดจนข้อตกลงในสัญญาแฟรนไชส์เป็นอย่างไร แต่คุณต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า การทำแฟรนไชส์ไม่ใช่การทำไซด์ไลน์ หรือรับจ๊อบ คุณก็ต้องจริงจังเท่าๆ กับการทำงานประจำนั่นแหละ พิจารณาเรื่องเวลาให้ดี หากคุณสามารถจัดสรรเวลาได้อย่างลงตัว คุณก็สามารถทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้

2.สถานที่ตั้งเกี่ยวข้องกับการพิจารณาหรือไม่

หากคุณมีบ้านในทำเลที่สามารถทำธุรกิจได้ มีคนที่บ้านช่วยดูแลร้านค้าแทนคุณ ตัวอย่างเช่น คุณแม่เพิ่งเกษียณอายุจากราชการ รู้สึกเบื่อ อยากหาอะไรทำ คุณก็อาจจะเปิดธุรกิจแฟรนไชส์ให้คุณแม่ช่วยดูแล แต่ในกรณีที่คุณต้องอาศัยเวลาหลังเลิกงานมาทำธุรกิจแฟรนไชส์ แล้วคุณมีช่องทางตลาดนัดใกล้บ้านที่เปิดตอนเย็น คุณอาจจะเลือกแฟรนไชส์ประเภทอาหาร เครื่องดื่ม ที่ไม่ได้ยุ่งยากในการเตรียมของก่อนขาย ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับอาชีพเสริม

3.แฟรนไชส์ต้องทำเองหรือไม่

เป็นไปได้สองกรณี อย่างที่กล่าวไปแล้วคือ หากเปิดแฟรนไชส์ที่บ้านแล้วมีคนที่บ้านช่วยดูแลให้ หรือในอีกกรณีหนึ่ง คุณอาจจะจ้างพนักงานมาทำในช่วงกลางวัน พอหมดชั่วโมงของเขา คุณก็กลับมารับช่วงต่อในช่วงหลังเลิกงาน เหมือนกับแท้กซี่ควงสองกะ ไม่จำเป็นว่าทำงานประจำแล้วจะทำธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ได้ แต่แนะนำว่าให้คุณแบ่งเวลา มาลงแรงด้วยตนเองดีกว่าจ้างคนมาทำแทนคุณทั้งหมด เพราะคุณเองจะได้มีความรู้ในเรื่องการตลาด มีความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งในระยะยาวความรู้ ความเข้าใจเหล่านี้จะต่อยอดให้คุณเป็นนักธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดีในอนาคต

4.ในบัญชีมีเงินอยู่เท่าไร

ไม่จำเป็นว่าคุณต้องมีเงินถุง เงินถัง จึงสามารถคิดอ่านเป็นผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ได้ เรื่องจังหวะการลงทุนในชีวิตเป็นสิ่งที่เราต้องมองหา สอดส่ายหูตาหาทำเลเหมาะ ถ้าคุณได้ทำเลดี ค่าเช่าพื้นที่ไม่ได้แพงมาก ยังมีแฟรนไชส์มากมายที่เงินลงทุนไม่สูงมาก วิธีการทำไม่ยาก วันธรรมดาคุณอาจจะประกอบอาชีพครู วันหยุด เสาร์ อาทิตย์ คุณอาจจะไปขายหมูปิ้งนมสด ชานมไข่มุก ฯลฯ ที่ตลาดนัดใกล้บ้าน อย่าลืมบอกลูกศิษย์ลูกหาให้ไปด้วยกันอุดหนุนคุณครูด้วย เห็นหรือไม่ว่าเรื่องเงินทุนไม่ใช่ปัญหาสำหรับการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการแฟรนไชส์

ถ้าคุณมีฝัน ถ้าคุณมีไฟ ถ้าคุณมีความขยันขันแข็ง จงมองหาอาชีพเสริมประเภทแฟรนไชส์ที่สามารถเสริมรายได้ให้กับคุณและครอบครัว ก้าวแรกที่แข็งขัน ย่อมนำมาซึ่งก้าวต่อไปที่ยิ่งใหญ่ หากคุณเชื่อในสำนวนที่ว่า “อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา” บอกเลยว่าฟ้าจะเปิดสำหรับสุดยอดมนุษย์เงินเดือนคนขยัน