เถ้าแก่ใหม่ทั้งหลายครับ เคยได้ยินคำนี้กันบ้างหรือไม่ครับ แคชโฟลว์ หรือคำว่า กระแสเงินสด มันคือสิ่งเดียวกัน ฟังดูเหมือนจะเข้าใจง่าย ๆ แต่เอาเข้าจริงหลายคนไม่เข้าใจมันเลยครับ ผมเองกว่าจะเข้าใจก็งงเป็นไก่ตาแตกอยู่นาน เงินไหลมันคืออะไรหว่า มันไหลมายังไง แล้วมันจะไหลไปไหน ที่สำคัญเงินมันจะไหลกับมาหาเราอีกหรือเปล่า

ครับ แปลตรงตัวก็คือ “เงินไหล” แต่ถ้าจะพูดให้สละสลวยหรือเข้าใจตรงกันมากกว่านั้น ก็หมายถึง การหมุนเวียนเงินสดในธุรกิจของคุณนั่นเองครับ

 

ทำไมเราต้องรู้เรื่องกระแสเงินสดด้วยล่ะ??? เอาแค่รู้ว่าซื้อมาขายไปได้กำไรก็พอแล้วนี่

 

มันไม่แค่นั่นสิครับ อย่าลืมนะครับทำการค้าขายมันไม่ใช่แค่เรื่องของการซื้อมาขายไป ยิ่งธุรกิจคุณเติมโตมากเท่าไหร่เส้นทางการเงินยิ่งซับซ้อนมากเท่านั้น ไหนจะค่าจ้างลูกจ้าง ไหนจะค่าน้ำค่าไฟ ไหนจะกันเงินเอาไว้ลงทุนขยายกิจการ ถ้าคุณไม่รู้ว่าเงินของคุณไหลเข้ามาอย่างไร ไหลออกไปทางไหนบ้าง ธุรกิจของคุณลำบากแน่ครับ

 

ประโยชน์ของกระแสเงินสด

ทำให้คุณรู้ว่าที่ผ่านมาเงินมายังไง เงินหายไปไหน ทำให้ทำนายอนาคตการเงินของกิจการคุณได้ไงครับ

ทำให้รู้ว่า ตอนนี้มีเงินที่ใช้จ่ายได้เท่าไร พอหมุนเวียนในร้านหรือเปล่า (รู้สภาพคล่อง)

ทำให้รู้ว่า คุณต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจของคุณได้กำไร

 

การจะบริหารกระแสเงินสดในกิจการให้ดีนั้น คุณควรแบ่งการใช้เงินออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ อย่างนี้ครับ

  1. กิจกรรมในการดำเนินงาน (Operating Activities) ซึ่งจะทำให้คุณรู้ว่าอะไรทำให้เกิดรายได้อะไรทำให้เกิดค่าใช้จ่าย มีสองรายการหลัก รายรับ ก็คือเงินที่ขายของได้ เงินที่ได้จากลูกหนี้ หรือเงินที่ได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก รายจ่าย ก็เช่น เงินที่ต้องเอาไปซื้อของมาขาย หรือวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้าของคุณ เงินที่เอาไปใช้หนี้ เงินสดที่จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่า หรือสรุปเป็นภาษานักบัญชีหน่อยก็คือ การใช้เงินที่เกี่ยวกับสินทรัพย์หมุนเวียน หรือหนี้สินหมุนเวียนในธุรกิจของคุณนั่นเองครับ
  2. กิจกรรมในการลงทุน (Investing Activities) ก็คือเงินที่เราเอาไปใช้ในอะไรก็ตามแต่ที่ไม่ใช่ในข้อแรกนั่นแหละครับ แบ่งเป็น 2 รายการเช่นเดียวกันคือ รายรับ เช่น เงินสดที่ได้จากการขายที่ดิน ขายอาคาร ขายอุปกรณ์ เงินปันผลจากกิจการอื่นที่เราไปลงทุนไว้ เป็นต้น รายจ่าย เช่น เงินที่เราเอาไปซื้อที่ดิน เอาไปซื้อตึก หรือกระทั่งเอาไปซื้อหุ้นของกิจการอื่น
  3. กิจกรรมจัดหาเงิน (Financing Activities) เป็นการหาเงินเข้าสู่กิจการของคุณ ในกรณีที่คุณอยากขยายกิจการแต่เงินทุนของคุณเองไม่พอ ก็ต้องหาเพิ่มครับ ที่คุณเคยก็คือ กู้เงินธนาคาร หรือ ถ้ากิจการใหญ่โตหน่อย ก็จะออกหุ้นมาเพื่อระดมเงินทุนให้กับผู้ที่สนใจลงทุนกับเราครับ

 

ข้างต้นนี้เป็นหลักการที่เราต้องรู้เพื่อที่จะนำมาใช้บริหารกระแสเงินสดในธุรกิจเราครับ ถ้าธุรกิจเปรียบ

เหมือนร่างกายคนเรา กระแสเงินสดก็คือเส้นเลือดล่ะครับถ้ามันอุดมันตันตรงไหนก็คงลำบาก เมื่อรู้หลักการคร่าว ๆ แล้ว กลวิธีในการบริหารเงินสดให้กระแสเงินของกิจการคุณสมดุลคือ

  1. ธุรกิจต้องมีสภาพคล่องพูดง่าย ๆ ต้องมีรายได้เข้ามามากกว่ารายจ่าย ในแต่ละรอบของการขายสินค้า หรือในแต่ละรอบของการผลิต
  2. ถือเงินสดเท่าที่จำเป็น การที่เรามีเงินสดในมือมากพอต่อการใช้จ่ายต่าง ๆ ในธุรกิจเป็นเรื่องดีครับ แต่ถ้ามากเกินไปมันจะทำให้คุณเสียโอกาสที่จะเอาเงินสดบางส่วนไปลงทุนให้งอกเงย เช่น ในแต่ละวันคุณขายอาหารคุณต้องใช้เงินหมุนเวียนเพียงแค่ 10,000 บาท แต่คุณถือเงินสดไว้ถึง 100,000 ซึ่งมันมากเกินความจำเป็นกับการหมุนเวียนในธุรกิจของคุณ คุณควรจะเอาเงิน 90,000 ไปซื้อตราสารการลงทุนระยะสั้น หรือเอาไปฝากประจำไว้ก็ได้ครับ หรือช่องทางอื่น ๆ ที่จะทำให้เงินสดส่วนเกินของคุณมันงอกเงยมากกว่าเก็บไว้กับตัวครับ
  3. ต้องมีช่องทางหาเงินมาเติมส่วนที่ขาด ในบางครั้งการทำธุรกิจก็หลีกเลี่ยงสถานการณ์ขาดสภาพคล่องไม่ได้คุณต้องมีแผนการรองรับเพื่อหาเงินมาหมุนเวียนเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
  4. ต้องคาดการณ์การใช้เงินเป็น คุณต้องคาดการณ์ได้ว่า ช่วงไหนใช้เงินน้อยช่วงไหนใช้เงินมาก เช่น ใน 1 ปี ธุรกิจของคุณอาจขายดีเป็นช่วงๆ เช่น เทศกาลต่าง ๆ จะขายของดี คุณต้องสำรองเงินสดไว้มากหน่อยเพื่อค่อยซื้อวัตถุดิบ หรือซื้อสินค้าไว้ขายให้ทันตามความต้องการของลูกค้า เป็นต้น
  5. ประเมินความเสี่ยง คุณต้องรู้จักการประเมินว่าธุรกิจของคุณมีความเสี่ยงจากอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ ซึ่งตรงนี้จะทำให้คุณมองภาพออกว่าคุณต้องกันเงินไว้มากน้อยแค่ไหน บริหารเงินสดในธุรกิจของคุณในช่วงเวลาไหนอย่างไร
  6. สำรองเงินไว้เผื่อภาวะฉุกเฉิน และแน่นอนครับเรื่องการกันเงินสำรองไว้บ้างเผื่อเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ไฟไหม้ เกินจลาจล เกิดการประท้วงในบริเวณใกล้กับร้านเรา ต้องหาทางหนีทีไล่ไว้ครับ อย่างน้อยอาจซื้อประกันภัยประเภทต่าง ๆ ไว้ก็ดีนะครับ ของแบบนี้กันไว้ดีกว่าแก้ครับ