เถ้าแก่ใหม่ทั้งหลายครับ เคยได้ยินคำนี้หรือไม่ครับ “ประชาชนทุกคนต้องรู้กฎหมาย” หลักนี้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 64 ผมอยากยกคำพูดนี้เพื่อคอยเตือนใจพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่มือเก่าทุก ๆ ท่านไว้ครับ ว่าการทำธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ต้องคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณไว้ด้วย อย่าละเลยเชียวนะครับ เพราะผิดพลาดขึ้นมาอาจส่งผลเสียหายต่อธุรกิจ รวมไปถึงความน่าเชื่อถือ จนอาจถึงขั้นต้องปิดตัวลงเลยทีเดียว

แต่ก่อนอื่นเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงสงสัยว่า แล้วธุรกิจที่เราจะทำ หรือกำลังทำอยู่ ต้องจดทะเบียนให้เป็นเรื่องเป็นราวหรือเปล่า ขายข้าวแกงข้างทางต้องจดไหม ขายของออนไลน์ต้องจดไหม มาดูหลักการคร่าว ๆ กันครับ ว่าธุรกิจแบบไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนบ้าง

ทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ คือสิ่งเดียวกันครับ ในมุมมองผมการจดทะเบียนการค้ามีแต่ผลดีต่อธุรกิจของคุณนะครับ มันก็เหมือนกับการที่เรามีบัตรประชาชนหรือมีใบอนุญาตขับขี่นั่นแหละครับ การจดทะเบียนการค้าทำให้ธุรกิจของคุณมีหลักฐานทางการค้า เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับร้านของเรา ยิ่งในยุคปัจจุบันร้านค้าออนไลน์ที่ลูกค้ากับแม่ค้าไม่มีโอกาสเจอหน้ากัน หากลูกค้ารับรู้ว่าร้านค้าของคุณจดทะเบียนการค้าสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าที่จะทำธุรกิจกับเราได้มากขึ้น นอกจากนี้ การจดทะเบียนการค้ายังใช้เป็นเอกสารประกอบในการยื่นกู้เงินกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้อีกด้วยครับ

 

สำหรับผู้ที่ต้องจดทะเบียนการค้า เอาให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คืนคนที่ประกอบธุรกิจการค้าแทบจะทุกชนิดนั่นแหละครับ ซึ่งกรมธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ให้แบ่งผู้ที่มีหน้าที่จดทะเบียนพาณิชย์ ไว้ 5 ประเภท

  1. บุคคลธรรมดาคนเดียว (กิจการเจ้าของคนเดียว)
  2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
  3. นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย
  4. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด
  5. บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด

 

ส่วนประเภทการค้าที่ต้องจดทะเบียนมียิบย่อยมากมาย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่จะศึกษาไว้ครับ ส่วนใน

ที่นี้เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ผมจะขอยกมาเฉพาะธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนก็แล้วกัน

ธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนการค้าได้แก่

  1. การค้าเร่ การค้าแผงลอย
  2. ธุรกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล
  3. ธุรกิจของนิติบุคคลซึ่งมีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
  4. ธุรกิจของหน่วยงานทางราชการ
  5. ธุรกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์
  6. ธุรกิจของกลุ่มเกษตรกร

 

ถ้าใครไม่เข้าหลักเกณฑ์ยกเว้นก็รีบดำเนินการจดทะเบียนได้เลยครับ เอกสารหลักฐานในการจดทะเบียนก็ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดนะครับ ถ้าเราเป็นเจ้าของคนเดียวก็ใช้แค่ สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ถ้าเช่าร้านก็แนบสัญญาเช่า หรือหนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดิน หรือเจ้าของห้องเช่า และรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจที่เราทำแค่นี้เองครับ คงไม่ยากเกินไปสำหรับเถ้าแก่มือใหม่ทั้งหลายนะครับ ซึ่งคุณสามารถ Download แบบฟอร์มได้ที่ www.dbd.go.th /ดาวน์แบบฟอร์ม/ทะเบียนพาณิชย์

การจดทะเบียนหากคุณอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ง่ายที่สุดก็สามารถยื่นได้ที่สำนักงานเขตทุกเขตครับ ส่วนต่างจังหวัด ยื่นได้ที่เทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบลที่ร้านค้าของคุณตั้งอยู่ได้เลยครับ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนใหม่แค่ 50 บาทเท่านั้นเองครับ

เห็นไหมครับการจดทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิดนะครับ ซ้ำยังเป็นผลดีต่อกิจการของเราอีกด้วย ส่วนใครที่กลัวเรื่องภาษีอย่าไปกังวลเลยครับมันคือหน้าที่ของประชาชนคนไทย ถ้าเราทำธุรกิจอย่างถูกต้องโปรงใส ก็อยู่ได้ยาว ๆ การคำนวณภาษีคิดจากเงินได้พึงประเมินจากกิจการของคุณแล้วยังมีกฎเกณฑ์ลดหย่อนภาษีในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับผู้ประกอบการอยู่แล้ว ถ้าคุณศึกษาดี ๆ มีผลดีต่อธุรกิจมากกว่าผลเสียอีกนะครับ

สรุปง่าย ๆ ครับถ้าคุณคิดแค่อยากค้าขายหาค่ากับข้าวไปวัน ๆ ซื้อมาขายไป หรือเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการบริการบางอย่างไม่ต้องจดทะเบียนการค้าก็ได้ครับ แต่หากคุณมุ่งหวังว่าธุรกิจที่คุณวางแผนลงมือทำจะเป็นบ่อเงินบ่อทองเลี้ยงคุณและครอบครัวทั้งในปัจจุบันและอนาคตการจดทะเบียนการค้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคุณครับ