เรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นอีก 1 พระราชดำรัสของ ร.๙ ที่พระองค์ทรงพระราชทานแก่พสนิกรชาวไทยมาอย่างยาวนานหลายสิบปี ผมเองได้มีโอกาสศึกษาเริ่มศึกษและนำมาปรับใช้กับธุรกิจเมื่อช่วงปี ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการฉลองครองราชสมบัติครบ ๖๐ พรรษา

ผมขออนุญาติยกพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระเจ้าอยู่หัว ร.๙ ทรงดำรัสไว้ตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่อให้พวกเราได้ศึกษาเพิ่มเติมกันก่อนที่ผมจะยกตัวอย่างสิ่งที่ผมได้นำมาประยุกต์ใช้นะครับ

พระราชดำรัส ร.๙ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง

“…เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาของเศรษฐกิจ การที่ต้องใช้รถไถต้องไปซื้อ เราต้องใช้ต้องหาเงินมาสำหรับซื้อน้ำมันสำหรับรถไถ เวลารถไถเก่าเราต้องยิ่งซ่อมแซม แต่เวลาใช้นั้นเราก็ต้องป้อนน้ำมันให้เป็นอาหาร เสร็จแล้วมันคายควัน ควันเราสูดเข้าไปแล้วก็ปวดหัว ส่วนควายเวลาเราใช้เราก็ต้องป้อนอาหาร ต้องให้หญ้าให้อาหารมันกิน แต่ว่ามันคายออกมา ที่มันคายออกมาก็เป็นปุ๋ย แล้วก็ใช้ได้สำหรับให้ที่ดินของเราไม่เสีย…”

พระราชดำรัส เนื่องในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๒๙

[divide width=”medium” color=”#”]

“…เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้ แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมากก็จะมีแต่ถอยกลับ ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลังและถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเรามีการบริหารแบบเรียกว่าแบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไป ทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละคือเมตตากัน จะอยู่ได้ตลอดไป…”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

[divide width=”medium” color=”#”]

“…ตามปกติคนเราชอบดูสถานการณ์ในทางดี ที่เขาเรียกว่าเล็งผลเลิศ ก็เห็นว่าประเทศไทย เรานี่ก้าวหน้าดี การเงินการอุตสาหกรรมการค้าดี มีกำไร อีกทางหนึ่งก็ต้องบอกว่าเรากำลังเสื่อมลงไปส่วนใหญ่ ทฤษฎีว่า ถ้ามีเงินเท่านั้นๆ มีการกู้เท่านั้นๆ หมายความว่าเศรษฐกิจก้าวหน้า แล้วก็ประเทศก็เจริญมีหวังว่าจะเป็นมหาอำนาจ ขอโทษเลยต้องเตือนเขาว่า จริงตัวเลขดี แต่ว่าถ้าเราไม่ระมัดระวังในความต้องการพื้นฐานของประชาชนนั้นไม่มีทาง…”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๖

[divide width=”medium” color=”#”]

“…เดี๋ยวนี้ประเทศไทยก็ยังอยู่ดีพอสมควร ใช้คำว่า พอสมควร เพราะเดี๋ยวมีคนเห็นว่ามีคนจน คนเดือดร้อน จำนวนมากพอสมควร แต่ใช้คำว่า พอสมควรนี้ หมายความว่าตามอัตตภาพ…”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙

[divide width=”medium” color=”#”]

“…ที่เป็นห่วงนั้น เพราะแม้ในเวลา ๒ ปี ที่เป็นปีกาญจนาภิเษกก็ได้เห็นสิ่งที่ทำให้เห็นได้ว่า ประชาชนยังมีความเดือดร้อนมาก และมีสิ่งที่ควรจะแก้ไขและดำเนินการต่อไปทุกด้าน มีภัยจากธรรมชาติกระหน่ำ ภัยธรรมชาตินี้เราคงสามารถที่จะบรรเทาได้หรือแก้ไขได้ เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาพอใช้ มีภัยที่มาจากจิตใจของคน ซึ่งก็แก้ไขได้เหมือนกัน แต่ว่ายากกว่าภัยธรรมชาติ ธรรมชาตินั้นเป็นสิ่งนอกกายเรา แต่นิสัยใจคอของคนเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่อยากให้จัดการให้มีความเรียบร้อย แต่ก็ไม่หมดหวัง…”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙

[divide width=”medium” color=”#”]

“…การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙.

[divide width=”medium” color=”#”]

“…เมื่อปี ๒๕๑๗ วันนั้นได้พูดถึงว่า เราควรปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะเป็นไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย…”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

[divide width=”medium” color=”#”]

“…พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น…”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

[divide width=”medium” color=”#”]

“…ไฟดับถ้ามีความจำเป็น หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ เรามีเครื่องปั่นไฟก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่า มืดก็จุดเทียน คือมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอ ฉะนั้นเศรษฐกิจพอเพียงก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์นี่เป็นสิ่งทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกัน แลกเปลี่ยนกัน ก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว แต่ว่าพอเพียงในทฤษฎีในหลวงนี้ คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้…”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

[divide width=”medium” color=”#”]

“…โครงการต่างๆ หรือเศรษฐกิจที่ใหญ่ ต้องมีความสอดคล้องกันดีที่ไม่ใช่เหมือนทฤษฎีใหม่ ที่ใช้ที่ดินเพียง ๑๕ ไร่ และสามารถที่จะปลูกข้าวพอกิน กิจการนี้ใหญ่กว่า แต่ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คนไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ๆ เหมือนสร้างเขื่อนป่าสักก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน เขานึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง แต่ที่จริงแล้ว เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน…”

พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

[divide width=”medium” color=”#”]

“…ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ ๒๐๐-๓๐๐ บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป…”

พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล

๑๗ มกราคม ๒๕๔๔

[divide width=”medium” color=”#”]

ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย ๓ คุณลักษณะ พร้อม ๆ กัน ดังนี้

    1.ความพอประมาณ: หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

2.ความมีเหตุผล: หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

    3.การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว: หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ

    เงื่อนไขความรู้: ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

เงื่อนไขคุณธรรม: ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

อ้างอิงข้อมูล http://www.chaipat.or.th/site_content/34-13/3579-2010-10-08-05-24-39.html

๙  แนวทางจากพระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” นำมาปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างไร

๑.คุณธรรมเป็นที่ตั้ง

ต้องบอกว่าเกือบทุกธุรกิจมีทั้งด้านมืด เทา ขาว หากขาดเรื่องของคุณธรรมเป็นเรื่องง่ายมากที่เราจะหลงเข้าไปทำธุรกิจในด้านมืด ค้ายาบ้า คดโกง แชร์ลูกโซ่ ฯ เหล่านี้เป็นเรื่องของการขาดคุณธรรม ดังนั้น สิ่งแรกที่เราต้องคิดและคำนึงถึงมากที่สุดคือ “คุณธรรม” ก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจ

๒.ความรู้เป็นเชื้อไฟ

คราวนี้เราก็กลับมาดูเรื่องความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจนั้น ๆ ว่าต้องรู้อะไรบ้าง มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะรู้อะไรทุกสิ่งอย่าง แต่ก่อนที่เราจะทำอะไรนั้นเราก็ควรที่จะหาความรู้ให้พอเพียงที่จะเริ่มต้นได้ พร้อมกับการลงมือทำไปกับการเรียนรู้ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปให้ได้

๓.รู้จักตัวตนก่อนรู้จักธุรกิจ

ความรู้ภายนอกว่าสำคัญแล้ว แต่ความรู้ภายในสำคัญยิ่งกว่า เราต้องรู้จักการประมาณตน รู้ว่าตนมีถนัด มีความชอบ มีสรรพกำลังในการทำธุรกิจนั้นๆ ได้มากขนาดไหน ไม่ใช่เป็นเรื่องของการฝันใหญ่หรือเล็ก แต่อยู่ที่หลักความจริงว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน ส่วนจะไปถึงไหนนั้นเป็นเรื่องของเป้าหมาย และวิธีการที่จะไป

ถ้าเราไม่รู้ตัวเอง ไม่อยู่บนหลักความจริง การจะก้าวกระโดดหรือไปในทิศทางที่ตามกระแสโลก มันก็จะทำให้เราไปไม่ถึง สุดท้ายก็พังทลาย ดังเช่นตึกสูงที่มีฐานรากไม่แข็งแรงนั่นเอง

๔.อย่าทำธุรกิจด้วยความโลภกระแสทุนนิยม

เดี๋ยวตามคนอื่นไม่ทัน !! รวยเร็ว รวยแรง รวยไม่ต้องทำอะไร คำพูดยั่วยวนความโลภเหล่านี้มักทำให้เรา “แพ้ใจตัวเอง” ยอมตกเป็นทาสของ “เงินตรา” เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ที่ “ความโลภ” มันครอบงำจิตใจเมื่อนั้นธุรกิจมันก็จะทำให้เรา “สูญเสีย”

อย่าพยายามไปวิ่งตามทุนนิยม ยึดหลัก ค่อยเป็นค่อยไป ค่อย ๆ สร้าง เหมือนเราปลูกผลไม้ หากตามอายุมันจะให้ผลตอนอายุ 3 ปีเราก็ต้องหมั่นดูแลรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยตลอด 3 ปี คงไม่สามารถเร่งวันคืนให้ออกผลใน 3 เดือนได้

เงินอาจจะนำมาใช้จ่ายซื้อหลายสิ่งได้ในชีวิต แต่ถ้าเงินนั้นได้มาเพราะความโลภมันก็มักจะหายยิ่งกว่าเป็นร้อยพันเท่าเพราะความโลภเช่นกัน

๕.ผิดเป็นครู ถูกก็เป็นครู

วัคซีนภูมิคุ้มกันได้มาจาก “ประสบการณ์” ทั้งจากตนเองและผู้อื่น เราต้องเรียนรู้ความผิดพลาดว่าได้อะไรจากความผิดพลาดนั้น และอย่าลืมที่จะเรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องว่าสิ่งได้ให้บทเรียนอะไรแก่เรา

ผิดครั้งแรกเป็นครู ผิดครั้งที่สองเป็นอาจารย์ ผิดครั้งที่สาม เขาว่าเป็น “คนโง่” จงเรียนรู้ และนำมาปรับปรุงวิธีการ วิธีคิดในการทำธุรกิจ

ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นบทเรียน เป็นครูให้เราได้เสมอ

๖.ตอบตัวเองด้วยเหตุผล ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์

ทำธุรกิจอย่าใช้อารมณ์เป็นตัวกำหนด แต่ต้องว่าด้วยเรื่อง “เหตุ และ ผล” ดังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หากทุกข์ ก็จงไปแก้ที่เหตุของทุกข์

เราต้องหา “เหตุ” ของปัญหาก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำอะไรสักอย่าง เมื่อ “เหตุ” ถูก ย่อมเป็นได้ที่จะส่งให้ “ผล” ออกมากดี

แต่ถ้าเราโฟกัสแค่ “ผล” แต่ไม่สนใจ “เหตุ” มันเป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้เลยที่ผลนั้นจะออกมาดี

๗.ใจเขาใจเรา

ค้าขายสินค้า ทำมาหากินคือการ “แลกเปลี่ยน” นำสิ่งของไปแลกเงิน คนจ่ายเงินก็อยากได้ของดีในราคาที่เหมาะสม ส่วนคนนำสิ่งของไปแลกย่อมต้องการเงินที่คุ้มค่ากับแรงกาย เงินทุน

ใจเขาใจเรานะครับ อย่าขายแพงจนเกินคุณค่าของตัวสินค้าเอง อย่าไปโก่งราคา อย่าค้ากำไรเกินควร คนซื้อเขาได้นำสินค้าเราไปใช้เขาได้บอกต่อ ได้กลับมาซื้อสินค้าเราอีก

ถ้าขายแพงคนก็ไม่ซื้อ ถ้าขายของไม่ดีคนก็ไม่ใช้ คิดถึงตัวเราเองนะครับว่า สินค้านี้ดีพอที่ตัวเราเองใช้ ญาติพี่น้องเราใช้หรือยัง คิดถึงตัวเองนะครับว่าถ้าราคานี้เราจะซื้อไหม มันแพงเกินไปหรือเปล่า

๘.ล้มได้แต่อย่าบ่อย

ผมบอกตัวเองอยู่เสมอครับว่า ทำธุรกิจเราต้องเผื่อใจไว้ครึ่ง ๆ ว่ามันมีโอกาสที่จะเจ๊ง หรือ ล้มเหลวด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ที่เราไม่ได้คิดวางแผนเองไว้

ผมยอมรับความล้มเหลวเหล่านั้นได้ แต่ อย่ากลายเป็นว่าเราเป็นพวก “เสพติดความล้มเหลว” เอาแค่เป็นภูมิคุ้มกันให้เราได้เรียนรู้ ไม่ประมาทในการก้าวย่างก้าวต่อ ๆ ไปเท่านั้นพอครับ

หากล้มบ่อยจนเกินไปสุดท้ายเราก็จะไม่กล้าที่ก้าวไปข้างหน้าอีกเลย เอาแค่พอเหมาะและเรียนรู้บทเรียนเหล่านั้นให้ได้

๙.ความพอเพียงไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องของชีวิต

อย่ามองเรื่องพอเพียงแค่ทำธุรกิจ แต่ลองนำมาปรับใช้กับชีวิต การเก็บ การออม การใช้จ่าย การสร้างครอบครัว ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง หรือ ความพอเหมาะ ไม่ตึงไปหรือหย่อนไป

ดังเช่นพระพุทธเจ้าทรงบอกกับพระเจ้าอชาติศรัตรู เรื่องของการดีดพิณณ์ว่า หากสายตึงไปดีดไปสายมันก็ขาด หากสายหย่อนไปดีไปมันก็ไม่ไพเราะ ต้องพอดี กลางๆ เหมาะสม

ผมน้อมนำพระราชดำรัสพระเจ้าอยู่หัว ร.๙ มาใช้กับชีวิตและธุรกิจ แม้ไม่ได้ 100% แต่ก็พยายามทำให้ได้มากที่สุดครับ เพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำง่ายนักในกระแสทุนนิยมที่ห้อมล้อมเรา แต่ผมเชื่อว่าทางนี้จะทำให้เราอยู่รอด และมั่นคงอย่างยั่งยืนอย่างแน่นอน

เพื่อน ๆ นำคำสอนของพ่อหลวง เรื่องอะไรไปใช้กับชีวิต ธุรกิจ นำมาบอกเล่าแบ่งปันความประทับใจกันได้นะครับ ผมยินดีเป็นสื่อกลางที่จะนำบทเรียนของท่านมาเผยแพร่ให้เป็นสาธารณะต่อไปครับ